ฟังรายการสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz.



ครอบครัวข่าวสาร





มาร่วมคุยกันดีกว่า

๑๑/๔/๕๑

สู้ร้อน วันสงกรานต์ ระวัง! โรคลมแดด

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

เทศกาลสงกรานต์ทุกครั้ง มักควงคู่มาด้วยดีกรีความร้อนสุดขีด ทะลุ 40 องศาเซลเซียส วิธีพิชิตร้อน หลายคนมุ่งหน้าคลายร้อนด้วยการเล่นน้ำ เดินชายทะเล เที่ยวห้างสรรพสินค้า ออกตระเวนสาดน้ำใส่กัน

แท้จริงแล้ว...ความลับของความร้อนเป็นเช่นใด จะดับร้อนอย่างไรถึงจะดีที่สุด?

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บอกว่า เมืองไทยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองร้อน บวกกับสภาวะโลกร้อน ปีนี้...หลายคนยิ่งรู้สึกว่า มันร้อนเหมือนตับจะแตก สาเหตุที่คนเรามีอาการรู้ร้อนรู้หนาว เพราะมนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น ไม่ใช่สัตว์เลือดเย็นอย่าง งู จิ้งเหลน กบ คางคก อึ่งอ่าง ร่างกายมนุษย์ต้องปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ ระหว่าง 36.5-37 องศาเซลเซียส...ไม่ว่าอุณหภูมิของอากาศภายนอกจะมากหรือน้อย หากอุณหภูมิร่างกายสูงกว่านี้ เราก็จะรู้สึกร้อนขึ้นมาทันที ที่แน่ๆ ร่างกายจะต้องปรับสมดุล ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า ร่างกายมนุษย์ไม่ได้มีเพียงตัวรับสัญญาณความร้อน...เย็นเท่านั้น ยังมีตัวรับสัญญาณการขาดน้ำ หรือตัวรับสัญญาณที่บอกระดับความเข้มข้นของเลือด และตัวรับสัญญาณการขาดเกลือแร่

"ตัวรับสัญญาณเหล่านี้ จะส่งสัญญาณไปบอกสมองให้รับรู้ เพื่อกระตุ้นกลไกการปรับอุณหภูมิ ของร่างกายให้ทำงาน" อุณหภูมิร่างกายร้อนเกินไป จะมีการระบายความร้อนออกมา...โดยเส้นเลือดจะขยายตัว เพื่อระบายความร้อนผ่านเหงื่อที่ผุดออกมาเป็นเม็ดเล็กๆ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

นอกจากนี้ ยังอยู่ในรูปของไอเหงื่อ เรามองไม่เห็น แต่อาจมีปริมาณมากถึงวันละ 500-600 ซีซี กลไกนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม...ขณะที่เรารู้สึกหนาว เส้นเลือดจะหดตัวลงเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อน อีกทั้งยังเกิดอาการการหนาวสั่น เพื่อผลิตความร้อนให้ร่างกาย กลไกการร้อน...หนาว ยังเกี่ยวพันโดยตรงกับระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย คุณหมอธีระวัฒน์ อธิบายต่อไปว่า เมื่ออากาศร้อน ร่างกายขาดน้ำ จากการสูญเสียเหงื่อและไอเหงื่อ จะทำให้ระดับความเข้มข้น ของเลือดและเกลือแร่ในร่างกายเข้มข้นเกินไป "จังหวะนี้ร่างกายต้องปรับตัว ส่งสัญญาณไปที่ไตเพื่อบังคับให้ ปัสสาวะน้อยลง เพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ขณะเดียวกันร่างกายก็จะรู้สึก อยากดื่มน้ำเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป" ที่น่ากังวล...คือ อาการฮีต สโตรก (Heat stroke) คนไทยเรียกกันว่า โรคลมแดด

"โรคลมแดดเป็นภาวะวิกฤติของร่างกาย ที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ เนื่องจากอากาศร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง 5-10 องศาเซลเซียสในระยะเวลาสั้นๆ" ภาวะนี้...จะทำให้สมองรู้สึกชินชากับความร้อนที่ได้รับ จนไม่รู้สึกกระหายน้ำ...ทั้งๆที่สมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกายเสียหาย ส่งผลให้ระดับความดันเลือดตก...เลือดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการไตวาย หากเป็นมากๆ เซลล์กล้ามเนื้อก็จะเริ่มแหลกสลาย มีของเสียตกตะกอนในไตทำให้เกิด ไตวายซ้ำซ้อน และเสียชีวิตในที่สุด “โรคลมแดด จะเห็นเป็นข่าวบ่อยๆ กับชาวบังกลาเทศทำให้มี ผู้เสียชีวิตครั้งละมากๆ”

คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า ฮีต สโตรก สำหรับคนไทยในร้อนนี้ เป็นเพียงการเตือน ให้ระมัดระวังเท่านั้น เชื่อว่า...อากาศร้อนในประเทศไทยจะไม่พุ่งสูงอย่างรวดเร็ว เหมือนในต่างประเทศ ที่ผ่านมาอุณหภูมิในบ้านเรา มักไต่ระดับทีละเล็กละน้อยครั้งละ 1-2 องศาเซลเซียส เช่น จาก 35 องศาฯ เป็น 36 องศาฯ และจาก 36 องศาฯ เป็น 37 องศาฯ จะไม่เพิ่มขึ้นจาก 35 องศาฯ ทีเดียวไปเป็น 40 องศาฯ "การไต่ระดับสูงขึ้นทีละน้อย...ร่างกายคนไทยจะชิน ปรับสมดุลได้เอง ไม่ต้องกังวล" อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีความพิการทางสมอง จิตประสาทแปรปรวน เป็นโรคหัวใจ ความดัน คนเหล่านี้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือปรับตัวเองได้ไม่ดี

อีกข้อที่สำคัญ...ความร้อนของอากาศ ยังขึ้นกับความชื้นในอากาศ ซึ่งป้องกันไม่ให้เหงื่อ ระเหยระบายความร้อนออกไม่ได้ ทำให้ความร้อนจริงที่ร่างกายต้องเผชิญสูงมากขึ้น ยิ่งอยู่กลางแดด และมีลมร้อนจัด...สภาวะแวดล้อมแบบนี้จะอันตรายยิ่งขึ้น ที่ต้องระวัง...ช่วงสงกรานต์ ออกกำลังกายกลางแจ้ง ตีแบดฯตีเทนนิส ก็มีโอกาสเป็นลมแดดได้เช่นกัน


คุณหมอธีระวัฒน์ บอกอีกว่า อันตรายที่เกี่ยวกับแดดและความร้อน แยกระดับความรุนแรงได้ 4 ระดับ...
  • ระดับแรก แดดเผา ผิวบวม แดง ลอก
  • ระดับที่สอง... ตะคริวตามน่อง กล้ามท้อง

  • ระดับที่สาม... เพลียรุนแรง ใกล้จะช็อก ตัวเย็นชืดชื้น ชีพจรเร็วเบา เป็นลม อาเจียน แต่อุณหภูมิร่างกายยังปกติ

  • ระดับที่สี่... ฮีต สโตรก (Heat stroke) ถือเป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤติ อุณหภูมิร่างกายอาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ผิวแห้ง ร้อน ชีพจรเร็ว แรง อาจหมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิต

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ หลบแดด ผึ่งลม ประคบเย็น และจิบน้ำ ถ้า อาการหนักมาก การใช้น้ำเย็นอาจทำให้เกิดตะคริวท้อง ให้นอนราบหรือตะแคง หากอาเจียนร่วมด้วย จำไว้ว่า...การดื่มน้ำจะทำให้เกิดอันตรายในระดับ 3 และถ้ามีอาการในระดับ 4 ห้ามให้น้ำดื่มเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายรุนแรงได้




สำหรับวิธีคลายร้อน ทำได้หลากหลายวิธี ง่ายที่สุดแต่แสนจะคลาสสิก คือการพัดและการใช้พัดลม เป็นวิธีการเป่าเหงื่อบนผิวหนังให้ระเหยออกไปเร็วขึ้น

วิธีต่อมา...เครื่องปรับอากาศ เป็นอีกเครื่องใช้ประจำบ้าน สำนักงานยอดนิยม คลายร้อนด้วยกลไกง่ายๆ โดยการปรับอุณหภูมิภายนอกให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิที่คนรู้สึกสบาย อยู่ราวๆ 26 องศาเซลเซียส


ถ้าจะดับร้อนแบบประหยัด...ชั่วคราว ผ้าเย็น หรือการนำน้ำเย็นมาลูบเนื้อลูบตัว ก็เป็นการช่วยดึงความร้อน ความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวออกไปได้แบบหนึ่ง

"การนำความเย็นเข้าไปสัมผัสร่างกายโดยตรง ทำให้อากาศรอบตัวบริเวณที่มีผ้าเย็น หรือน้ำเข้าไปสัมผัสเย็นขึ้น เราก็จะรู้สึกผ่อนคลาย"

ความเชื่อที่ว่า...ไม่ควรกินน้ำ หรือกินของเย็นๆ เวลาอากาศร้อนมากๆ จะทำให้ไม่สบาย "ข้อนี้...ยังไม่มีข้อพิสูจน์
ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ว่าจะมีผลร้ายเช่นนั้น"


การดื่มน้ำเย็น การรับประทานไอศกรีม ทำได้โดยไม่ต้องกังวล เว้นแต่คนคนนั้น มีอาการผิดปกติของร่างกายอยู่ก่อน แต่ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลเสียร้ายแรง หรืออันตรายถึงชีวิต

คุณหมอธีระวัฒน์ แนะนำว่า อาหารที่ควรทานในช่วงอากาศร้อน ควรจะเป็นอาหารธาตุเย็น ผัก ผลไม้ทานให้
เยอะๆ ผัก ผลไม้ที่มีน้ำมากๆ มีผลดีต่อร่างกาย เพราะมีเกลือแร่มาก... ทดแทนส่วนที่สูญเสียไปกับเหงื่อ และปัสสาวะ...ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย

"ผลไม้ต้องห้าม...คือผลไม้ร้อน เช่น ทุเรียน เงาะ ลำไย ทานแล้วอาจทำให้ ไม่สบายตัว ถ้าเป็นเครื่องดื่ม...ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ของหวานจัด"


ไขปริศนาความร้อน...รู้จักวิธีดับร้อนกันไปแล้ว กับอากาศที่ร้อนระอุ สงกรานต์ปีนี้ ขอให้คนไทยใช้ชีวิตอยู่กับความร้อนได้อย่างมีความสุข


ขอขอบคุณ

ไม่มีความคิดเห็น:

ข่าวรณรงค์

ช่วยกันลดมลพิษคนละนิด ลดการใช้โฟมและถุงพลาสติก ปิดเครื่องไฟฟ้าหลังใช้งานทุกครั้ง

ความคิดเห็นล่าสุด