ฟังรายการสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz.



ครอบครัวข่าวสาร





มาร่วมคุยกันดีกว่า

๑๙/๑/๕๑

ทีวีสาธารณะ : สื่อโทรทัศน์รูปแบบใหม่

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกสัมปทานการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์จากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวีมาเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีแทน และมีมติแปลงสภาพกิจการสถานีโทรทัศน์ "ทีไอทีวี" หรือ "ไอทีวีเดิม" ให้ยกระดับไปสู่บทบาทของการเป็น "ทีวีสาธารณะ" ซึ่งความหมายก็คือ สถานีโทรทัศน์ที่เน้นการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน


โดยเนื้อหาสาระที่นำเสนอปราศจากการครอบงำจากรัฐบาลและกลุ่มทุนใดๆ มีหน่วยงานตรวจสอบเนื้อหาที่ถ่ายทอด หรือการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่เน้นรายการข่าวและสารคดีเช่นเดียวกับที่ออกอากาศในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ในปัจจุบันที่เน้นการผลิตรายการโทรทัศน์ในเชิงพาณิชย์ สามารถผลิตรายการเพื่อออกอากาศได้ทั้งรายการที่เป็นสาระและบันเทิง โดยเน้นความนิยมของรายการ และสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้

การศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าการจัดให้มีสถานีโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทยมีทั้งข้อดีและข้อควรระวังที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคม ผลดีนั้นการให้บริการโทรทัศน์แบบสาธารณะน่าจะเป็นทางเลือกให้กับผู้รับชมรายการให้ได้รับชมรายการที่ดี มีประโยชน์และสามารถสร้างเส้นทางต่อเนื่องไปสู่การพัฒนาคุณภาพของคนได้ โดยผ่านสื่อโทรทัศน์ซึ่งถือว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ในวงกว้างมากที่สุด เป็นทางเลือกให้กับผู้ชมที่ต้องการรับชมรายการที่ดี มีสาระมากกว่าที่จะมีเพียงสถานีโทรทัศน์ที่เน้นเพื่อความบันเทิงและให้บริการในเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีข้อพึงระวังในการบริหารของสถานีโทรทัศน์สาธารณะค่อนข้างมาก ยิ่งคุณภาพของรายการที่ผลิต ซึ่งจะไม่เน้นรายการด้านบันเทิง แต่รายการที่ออกอากาศก็จำเป็นที่จะต้องมีความดึงดูดผู้ชมได้มากพอสมควร การผลิตรายการเชิงสาระที่น่าติดตามนั้นยังมีจำนวนไม่มากนักในประเทศไทย ทำให้ขาดบุคลากรทางการผลิตรายการทางด้านนี้ค่อนข้างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาให้ทันกับช่วงระยะเวลาในการจัดตั้งสถานีซึ่งค่อนข้างสั้น

นอกจากประเด็นเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุม หรือบริหารสถานีก็ต้องมีความโปร่งใสสามารถทำงานโดยอิสระอย่างแท้จริง โดยปราศจากการครอบงำจากกลุ่มใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ทั้งประเด็นทางด้านการจัดสรรรายได้ให้กับช่องโทรทัศน์สาธารณะนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผน ให้สามารถคงอยู่ได้ในระยะยาว

ซึ่งงบประมาณในการจัดสรรรายได้ให้กับสถานีนั้นน่าจะมีจากหลายๆ แหล่ง เช่น ในรูปแบบของกองทุน เป็นต้น แม้รูปแบบการจัดให้มีโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทยจะเป็นรูปแบบที่ดีที่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ในภาวะที่การแข่งขันของธุรกิจโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ในปัจจุบันนั้นตั้งเป้าหมายเพื่อช่วงชิงรายได้ที่มาจากการโฆษณาเป็นหลัก ทำให้ที่ผ่านมาประเทศไทยขาด หรือมีรายการที่ส่งเสริมความรู้ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้ชมหรือพลเมืองขาดทางเลือกในการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง และขาดทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ในลักษณะกลุ่มเฉพาะ

การเพิ่มทางเลือกโดยผ่านโทรทัศน์สาธารณะก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า สถานีโทรทัศน์สาธารณะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบสื่อในประเทศไทยเท่านั้น โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ยังมีจำนวนช่องฟรีทีวีที่ออกอากาศเพียงไม่กี่ราย ทำให้ตลาดมีการแข่งขันกันอย่างไม่สมบูรณ์และความหลากหลายของรายการน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในระยะยาวแล้ว การเร่งเปิดให้มีธุรกิจโทรทัศน์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาเข้ามาช่วยเสริมให้การแข่งขันในธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น และมีการกำหนดกลไกเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การพัฒนารูปแบบของธุรกิจโทรทัศน์ในประเทศไทยสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยความโปร่งใสและมีรายการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต นอกจากให้ความบันเทิงกับผู้ชมแล้วยังต้องใช้เพื่อการพัฒนาความรู้ความสามารถได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขอขอบคุณ :

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตามทฤษฎี มันฟังดูดี
อังกฤษมี BBC World, BBC 1, BBC 2, BBC 3, CBB

แคนาดา มี CBC(วาไรตี้), CBC Country Canada(ชนบท), CBC Newsworld(ข่าวอังกฤษ), Société Radio-Canada(วาไรตี้ฝรั่งเศส), Société Radio-Canada Nouvelles (ข่าวฝรั่งเศส), CBC Toronto, CBC Saskatchewan, CBC British Columbia นอกจากนี้แต่ละ province ก็มี TV Ontario มี Télé-Québec เสนอรายการสาระประโยชน์แบบไม่มีน้ำเน่า ไม่มีพนันบอล ไม่มีมิวสิกวิดิโอ ฯลฯ

จีน ก็มี CCTV-1(วาไรตี้), 2, 3, 4(จีนโพ้นทะเล), 5(กีฬา), 6(บันเทิง), 7(กิจการกองทัพ), 8, 9(ข่าวสารจีนในภ.อังกฤษ), 10(กฎหมาย), 11(วัฒนธรรมพื้นบ้านจีน), 12(เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์), CCTV-E(ข่าวสารจีนในภ.สเปน), CCTV-F(ข่าวสารจีนในภ.ฝรั่งเศส), CCTV音乐(ดนตรีพื้นบ้าน,คลาสสิก), CCTV新闻(ข่าว), CCTV少年(เด็กเล็ก) ฯลฯ นอกเหนือจากนี้ แต่ละมณฑล เขตการปกครอง ก็จะมีช่องท้องถิ่นของตัวเองอีก โดยเฉพาะทางมณฑลซินเจียง ก็จะมีเป็นภาษาอุยกูร์เลย มันไม่กลัวเรื่องแยกดินแดนด้วย หรือ มณฑลทิเบต ก็มีภาษาทิเบต หรือทางที่ติดกับเกาหลีมีชนกลุ่มน้อยเกาหลี ก็มีทีวีภาษาเกาหลีให้ด้วย มองโกเลียในก็มีทีวี NMTV ออกอากาศภาษามองโกล
ยังไม่ต้องไปดู ญี่ปุ่น ที่มี NHK ของเขาหลากหลาย
ประเทศอื่นๆ เขาก้าวไปไกล
แล้วของไทยล่ะ จะเท่าทันกับประเทศเหล่านี้เมื่อไหร่
แค่มีช่องเดียวยังถกเถียงกันอยู่ ข้าพเจ้าชักจะไม่แน่ใจ
ว่าจะเป็นทีวีสาธราณะจริง ๆ หรือไม่

ข่าวรณรงค์

ช่วยกันลดมลพิษคนละนิด ลดการใช้โฟมและถุงพลาสติก ปิดเครื่องไฟฟ้าหลังใช้งานทุกครั้ง

ความคิดเห็นล่าสุด